กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เทพบิดรบนสรวงสวรรค์มีธิดาอยู่องค์หนึ่งชื่อ “โอริฮิเมะ”..เทพธิดาผู้คอยทำหน้าที่ทอผ้าให้กับเทพบิดร โอริฮิเมะทอผ้าอย่างขยันขันแข็งจนเทพบิดรเป็นห่วงเกรงว่าจะทำงานหนักเกินไป อยู่มาวันหนึ่ง เทพบิดรจึงได้แนะนำ “ฮิโกโบชิ”..เทพบุตรเลี้ยงวัวให้โอริฮิเมะรู้จัก
ปรากฏว่าได้ผลเกินคาด! ทั้งสองรักกันอย่างดูดดื่มจนลืมการลืมงาน เทพบิดรไม่มีเสื้อผ้าชุดใหม่จนชุดเดิมเก่าขาดวิ่น ส่วนฝูงวัวก็พากันล้มป่วย เทพบิดรจึงพิโรธจับโอริฮิเมะและฮิโกโบชิแยกกันไปอยู่คนละฟากฝั่งของแม่น้ำแห่งสรวงสวรรค์ที่เรียกว่าอามาโนกาวะ หรือแปลภาษาญี่ปุ่นคำนี้เรียกอีกทีให้คุ้นหู ก็คือ ทางช้างเผือก นั่นเอง
“วิญญาณฉันรอที่ทางช้างเผือก…¯” (เพลงละคร “คู่กรรม”..ละครดังแห่งยุคเมื่อราว 20 กว่าปีก่อน)
ความรักของโอริฮิเมะและฮิโกโบชิจึงกลายเป็นโศกนาฏกรรมความรักคล้ายดั่งละคร “คู่กรรมภาคสรวงสรรค์” ตั้งแต่นั้นมาโอริฮิเมะเอาแต่ร้องห่มร้องไห้จนกระทั่งเทพบิดรเห็นใจ และอนุญาตให้โอริฮิเมะกับฮิโกโบชิพบกันบนทางช้างเผือกปีละครั้งในวันที่ 7 เดือน 7
วันที่ 7 เดือน 7 เป็นวันที่ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งมักจะตรงกับช่วงเดือนสิงหาคม
ทว่าถ้าปีไหนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด มีฝนตกในวันที่ 7 เดือน 7 น้ำก็จะท่วมทางช้างเผือกจนทำให้ทั้งคู่มาเจอหน้าจู๋จี๋กันไม่ได้ เรื่องราวครั้งนี้จึงเดือดร้อนลงมาถึงมวลหมู่มนุษย์ชาวญี่ปุ่นที่ต้องช่วยกันสวดอ้อนวอนขออย่าให้ฝนตกในวันนี้เลย ไหนๆ ก็มาถึงขั้นนี้แล้ว มนุษย์ก็เลยถือโอกาสเขียนคำอธิษฐานของตัวเองแถมลงไปด้วย คำอธิษฐานจะถูกเขียนลงบนกระดาษหลากสีสันแล้วถูกผูกติดบนไม้ไผ่ นี่แหละคือที่มาของเทศกาลทานาบาตะ..เทศกาลประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเทศกาลหนึ่งของญี่ปุ่น
ด้วยเรื่องราวความเป็นมาอันแสนโรแมนติกบวกกับความคึกคักของเทศกาลนี้ จึงทำให้มีคนคิดคำจำกัดความของเทศกาลทานาบาตะขึ้นมาใหม่ให้ดูเก๋ไก๋เข้าใจง่าย เช่น “เทศกาลแห่งดวงดาว” “วาเลนไทน์สไตล์ญี่ปุ่น” “เทศกาลคริสมาสฤดูร้อน”
แต่ถึงอย่างไรเทศกาลทานาบาตะก็คือเทศกาลทานาบาตะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและยากจะหาเทศกาลอื่นใดมาเทียบเคียงได้
“คำอธิษฐานติดไม้ไผ่” “ฤดูร้อน” “หนุ่มสาว” “ชุดยูกาตะ” “พัดโบกแก้ร้อน” “งานออกร้าน” “ครอบครัวจูงมือกัน” “ผู้คนคับคั่ง” “ดอกไม้ไฟ”…
นี่แหละเทศกาลทานาบาตะที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งความโรแมนติกและความน่าหลงใหล เทศกาลทานาบาตะจึงมักถูกนำไปเป็นท้องเรื่องในหนังรักและเพลงรักของญี่ปุ่น
บ่อยครั้งที่จะมีการจุดดอกไม้ไฟประจำปีผนวกเข้าไว้กับงานเทศกาลทานาบาตะด้วย ดอกไม้ไฟที่ว่านี้จุดกันทีเป็นพันเป็นหมื่นนัด ปีแรกๆ ที่ผู้เขียนไปเรียนที่ญี่ปุ่นก็ได้ไปเที่ยวงานเทศกาลทานาบาตะกับเขาด้วย ภาพดอกไม้ไฟสีสันฉูดฉาดที่เรียงรายเต็มทั่วทั้งท้องฟ้ายังติดตาตรึงใจมาจนถึงทุกวันนี้
ถ้าอยากไปเที่ยวญี่ปุ่นให้ได้กลิ่นอายของขนบธรรมเนียมประเพณีญี่ปุ่นบวกกับความโรแมนติกสไตล์ญี่ปุ่น ขอแนะนำให้ไปช่วงเทศกาลทานาบาตะนี้ แม้จะตรงกับฤดูร้อนของญี่ปุ่นที่อากาศร้อนแรงแสนสาหัสไม่แพ้เมืองไทย แต่ผู้เขียนก็มั่นใจว่าทุกคนจะต้องประทับใจกลับมาอย่างแน่นอน
เขียนและเรียบเรียงโดยทีมนักแปลภาษาญี่ปุ่น Modern Publishing
แหล่งข้อมูลอ้างอิง: