ค้างกันไว้ที่เรื่องของชั้นสังคมในสมัยราชวงศ์โชซอน ในบทความที่แล้วได้พูดถึงสองชั้นบนของพีระมิด ได้แก่
ยังบัน คือ ชั้นกษัตริย์ ขุนนางทั้งฝ่ายบู้และฝ่ายบุ๋น กับ จุงอิน คือ ชนชั้นกลางมีสี่อาชีพ ได้แก่ ล่ามแปลภาษา นักกฎหมาย แพทย์(ชาย) และโหรหลวง มาต่อกันที่สองชั้นที่เหลือของพีระมิด นั้นคือ สามัญชนทั่วไปและทาส
3. ซังมิน (상민/常民) คือ สามัญชนทั่วไป ได้แก่ พวกชาวไร่ ชาวนา ชาวประมง และกรรมกร ซึ่งจะถูกเรียกเก็บภาษี 조 หรือ โจ เป็นภาษีจากที่ดิน 보 หรือ โพ ภาษีจากเสื้อผ้า และ ยอก เป็นส่วยที่เรียกเก็บแทนการเกณฑ์ทหาร ด้วยเหตุนี้เองทำให้ภาษีของซังมินนั้นสูงมากจนมีการลุกขึ้นมาต่อต้านอยู่บ่อยครั้ง
4. ชอนมิน (천민/賤民) คือ ทาส ชนชั้นนี้จะถูกเลือกปฏิบัติเหมือนสิ่งของผักปลา โดยจะถูกควบคุมจากในราชสำนัก ชนชั้นนี้จะไม่มีสิทธิ์ในการเลือกเท่าไรนัก อาชีพส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพที่คนดูถูก เช่น นักกายกรรม คนฆ่าสัตว์ ส่วนผู้หญิงจะมีอาชีพ มูดัง (무당/巫) หรือหมอผี คีแซง(기생/ 妓生) หรือนางโลม และอึยนยอ (의녀)หรือแพทย์หญิง แต่ในราชสำนักก็ยังเปิดรับชอนมินผู้ชายเข้าสอบควากอฝ่ายบู้ได้
การแบ่งชนชั้นเช่นที่กล่าวมานี้ถูกใช้ในช่วงราชวงศ์โชซอน ต่อมาเมื่อเกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดครอง ก็เริ่มมีวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาอย่างแพร่หลาย ทำให้ชนชั้นล่างนั้นลืมตาอ้างปากได้ แต่ตรงข้ามกับชนชั้นบนนั้นยิ่งขัดสนลงเรื่อย ๆ เช่น ผู้หญิงยังบันจะต้องเชื่อฟังสามี แต่ผู้หญิงชนชั้นล่างนั้นสามารถไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระกว่า
การแบ่งชนชั้นนี้อาจจะหายไปจากสังคมเกาหลีหรือแม้แต่สังคมไทยของเรา ผู้คนสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างอิสรเสรีมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าการปฏิบัติตนในสังคมนั้นก็ยังมีชั้นฐานะที่เราเองก็สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามคำว่าชนชั้นน่าจะแทรกซึมอยู่ในสังคมของเรา เพียงแต่เรามองไม่เห็นหรือไม่ได้จัดตัวแบ่งเกณฑ์ที่ชัดเจนอย่างเช่นสมัยราชวงศ์โชซอนเท่านั้นเอง