ระบบวรรณะในเกาะบาหลี เป็นการจัดสถานะของคนในสังคมที่บาหลีได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย แม้ว่าความซับซ้อนของระบบวรรณะในเกาะบาหลีจะไม่เท่ากับระบบวรรณะของอินเดีย แต่ก็สามารถจำแนกได้เป็น 4 วรรณะใหญ่ตามแบบอินเดียคือ
– วรรณะพราหมณ์ คือกลุ่มชนชั้นนักบวชและผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู
– วรรณะกษัตริย์ คือกลุ่มชนชั้นผู้ปกครอง รวมถึงนักรบและทหาร
– วรรณะแพศย์ (ไวศยะ) คือกลุ่มชนชั้นพ่อค้าและผู้ปฏิบัติงานภายใต้คำสั่งของผู้ปกครอง
– วรรณะศูทร คือกลุ่มชนชั้นชาวนาและเกษตรกร คิดเป็นจำนวนร้อยละ 93 ของประชากรทั้งหมดในเกาะบาหลี
การสังเกตว่าคนในเกาะบาหลีอยู่ในวรรณะใดนั้น จะสังเกตได้จากสำเนียงการใช้ภาษาบาหลี ที่แต่ละวรรณะจะมีสำเนียงการพูดที่แตกต่างกัน
วรรณะที่เริ่มสูญสิ้นไปจากเกาะบาหลีเป็นวรรณะแรกคือกลุ่มคนในวรรณะกษัตริย์ หลังจากการล่มสลายของราชวงศ์มัชปาหิต (ค.ศ. 1293-1527) อย่างไรก็ตาม ยังปรากฏการสืบทอดของวรรณะกษัตริย์ต่อมาในราชวงศ์เทวะอะกุง (Deva Agung) ซึ่งราชวงศ์นี้ได้ปกครองเกาะบาหลีจนถึง ค.ศ. 1950
ระบบวรรณะในเกาะบาหลีเริ่มลดความสำคัญลงเมื่ออินโดนีเซียตกเป็นอาณานิคมของฮอลันดา และแทบจะหมดความสำคัญไปหลังจากที่อินโดนีเซียประกาศอิสรภาพเมื่อปี ค.ศ. 1950 หลังจากที่ทางรัฐบาลได้ออกกฎห้ามการสนับสนุนระบบวรรณะทุกรูปแบบ ทำให้เกิดการต่อต้านของกลุ่มคนที่สนับสนุนระบบวรรณะในช่วงปี ค.ศ. 1950-1960 ทำให้เกิดการปะทะกับระหว่างฝ่ายผู้สนับสนุนระบบวรรณะกับฝ่ายคอมมิวนิสต์แห่งอินโดนีเซีย จนมีผู้เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1965-1966 ทั้งนี้ ระบบวรรณะยังคงเหลืออยู่ในเกาะบาหลีบ้าง โดยเฉพาะการประกอบพิธีกรรมต่างๆในศาสนาฮินดูที่คนทั่วไปจะให้พราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี