ผู้เขียนมีโอกาสผ่านงานแปลภาษาญี่ปุ่นมามากหลากหลายพอสมควร ตั้งแต่แปลการ์ตูน จดหมายรัก เอกสารโรงงาน สัญญาทางกฎหมาย วิทยานิพนธ์ หรือแม้กระทั่งคัมภีร์ทางศาสนา ฯลฯ
ในบรรดางานแปลทั้งหมดที่ผ่านมา งานแปลที่ประทับใจมากที่สุด คือ เมื่อคราวที่ได้ไปช่วยเพื่อนนักเรียนชาวไทยแปลวิทยานิพนธ์ เพื่อนเขียนปั่นวิทยานิพนธ์เป็นภาษาไทย ส่วนผู้เขียนก็ทำหน้าที่แปลจากภาษาไทยเป็นภาษาญี่ปุ่น ช่วยกันปั่นช่วยกันแปลจนกระทั่งสามารถเย็บเล่มส่งวิทยานิพนธ์ทันในวันรุ่งขึ้น แต่ปรากฏว่าผลงานแปลดีเกินคาดจนอาจารย์ที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นตำหนิเพื่อนว่าไปลอกข้อความตอนที่ผู้เขียแปลมาจากหนังสือภาษาญี่ปุ่นเล่มอื่น ตอนนั้นผู้เขียนยืนอยู่ตรงหน้าอาจารย์คนนั้นด้วย แต่ก็ได้แต่น้ำท่วมปากเถียงแทนในใจว่า “ผมเป็นคนช่วยแปลให้กับมือเองครับ..อาจารย์ ไม่ได้ลอกใครเขามาหรอก”
เอาล่ะ หัวใจในการแปลภาษาญี่ปุ่นรวมทั้งภาษาอื่นๆ ด้วย คือ ต้องสื่อความหมายให้ตรงกับต้นฉบับเดิมให้มากที่สุด ข้อห้ามที่สำคัญในการแปล คือ อย่าแปลคำต่อคำ แต่ให้แปลความหมายโดยรวมทั้งวลีหรือทั้งประโยค
ลักษณะพิเศษของภาษาญี่ปุ่นที่มักสร้างความลำบากใจให้กับผู้แปลอยู่เสมอๆ อาจพอสรุปได้ดังนี้
1. ลักษณะพิเศษทางไวยากรณ์ เช่น ประธานมักถูกละไว้ ประโยคยาวยืด แต่กริยาไปอยู่ท้ายสุด เป็นต้น ข้อนี้มักเป็นปัญหากับผู้แปลมือใหม่ที่ยังไม่แม่นไวยากรณ์เท่าที่ควร หลักสำคัญ คือ ต้องจับประธาน กิริยาและกรรมในประโยคหรือวลีนั้นๆ ให้ได้ ถ้าจำเป็นเวลาแปลก็อาจใส่ประธานเสริมเข้าไปให้คำแปลเข้าใจง่ายขึ้น บางครั้งถ้าประโยคต้นฉบับยาวมาก เราอาจแปลแบ่งเป็นประโยคย่อยๆ ก็ได้
2. สำนวนในชีวิตประจำวันหรือคำศัพท์ที่ไม่มีในภาษาไทย รวมไปถึงศัพท์เทคนิคเฉพาะทาง ข้อนี้มักเป็นปัญหากับนักแปลทุกระดับที่มีประสบการณ์น้อยหรือไม่เชี่ยวชาญในเนื้อหาที่จะแปล กรณีเป็นสำนวนหรือคำศัพท์ที่ไม่มีในภาษาไทย อาจแก้ปัญหาโดยพยายามใช้จินตนาการนึกว่าในภาวะเหตุการณ์เดียวกัน ถ้าเป็นคนไทยน่าจะพูดอะไรออกมา ส่วนกรณีที่เป็นศัพท์เทคนิคเฉพาะทาง ผู้แปลคงต้องใช้ความขยันมุมานะเข้าไปอ่านเอกสารภาษาไทยที่เกี่ยวข้องกับวงการนั้นๆ เพื่อให้รู้จักและคุ้นเคยกับศัพท์แสงในวงการ
3. การเล่นคำหรือเนื้อหาที่ต้องอาศัยพื้นเพทางวัฒนธรรมหรือต้องโตมาในสังคมญี่ปุ่นจึงจะเข้าใจ กรณีนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกรณีที่ยากเสมอตลอดกาล บางครั้งต้องคิดกันเป็นวันๆ เพื่อหาคำที่เหมาะสม แต่หลายๆ ครั้งก็ต้องใช้เชิงอรรถใส่คำอธิบายเพิ่มเติมเข้าไป
นอกจากปัญหาเรื่องการแปลให้ตรงตามใจความของต้นฉบับเดิมแล้ว สำนวนการแปลก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ เราอาจแบ่งสำนวนการแปลได้เป็น 2 ค่ายใหญ่ๆ คือ “ค่ายอนุรักษ์นิยม” ที่พยายามรักษารูปศัพท์ตามต้นฉบับเป็นสำคัญ กับ “ค่ายหัวก้าวหน้า” ที่เน้นเอาอารมณ์ความรู้สึกของต้นฉบับเป็นสำคัญ
แม้จะถูกฝึกมาให้เป็นพวกอนุรักษ์นิยม แต่ปัจจุบันผู้เขียนก็เริ่มเอาใจออกห่างไปนิยมชมชอบค่ายหัวก้าวหน้าบ้างเหมือนกัน! บ่อยครั้งที่ต้องเถียงกับตัวเองว่าจะแปลประโยคนี้ด้วยสำนวนของค่ายไหนดี
อย่างไรก็ตาม เราอาจยึดเกณฑ์ตัดสินจากประเภทของเอกสารต้นฉบับก็ได้
ถ้าต้นฉบับเป็นเอกสารทางการ สัญญาทางกฎหมาย หรือคัมภีร์ทางศาสนา ผู้แปลก็ควรแปลเน้นไปทางค่ายอนุรักษ์นิยมมากกว่าปกติ แต่ขอทำความเข้าใจตรงนี้ก่อนว่าการแปลรักษารูปศัพท์ไม่ใช่การแปลคำต่อคำ การแปลให้ได้ใจความตรงกับต้นฉบับเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่ถ้าเราสามารถเลือกคำแปลที่ตรงหรือใกล้เคียงกับต้นฉบับได้ด้วย จะถือว่าเป็นคำแปลภาษาที่สมบูรณ์แบบมาก
แต่ถ้าต้นฉบับเป็นจดหมายรัก การ์ตูน นวนิยาย ก็อาจจะแปลตามแนวค่ายหัวก้าวหน้า เน้นแปลเอาอารมณ์ความรู้สึกเป็นสำคัญ แต่ไม่ต้องถึงขั้นนักพากย์หนังจีนบ้านเราที่ชอบสอดแทรกแถมมุกฮาๆ ให้ตลอด (ถ้าเจ้าของหนังรู้เข้า เขาจะดีใจหรือเสียใจก็ไม่อาจทราบได้) หลายครั้งที่ผู้แปลค่ายหัวก้าวหน้าเลือกใช้คำตรงกันข้ามกับต้นฉบับเสียด้วยซ้ำ ขออนุญาตยกตัวอย่างคำแปลชื่อหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งที่โดนใจมาก
The World is Flat…“ใครว่าโลกกลม”
ช่างเป็นคำแปลที่พอดิบพอดีและสื่ออารมณ์ของต้นฉบับได้อย่างเหมาะเจาะ แม้ว่าจะต้องเปลี่ยนรูปประโยคจากบอกเล่าเป็นคำถาม และแปลจากคำว่า Flat (แบน) เป็นคำว่า “กลม” ก็ตาม
หลักการแปลที่สำคัญข้อสุดท้าย คือ ควรทิ้งเวลาตรวจทานคำแปลก่อนส่งเจ้าของงานทุกครั้ง เพราะคำแปลดีๆ เด็ดๆ มักจะผุดขึ้นมาในหัวของผู้แปลสัก 1-2 วันหลังจากที่แปลเสร็จไปแล้วทุกที
เขียนและเรียบเรียงโดยทีมนักแปลภาษาญี่ปุ่น Modern Publishing
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
http://www.catiks.com/sk/eclm_27.html
http://www.crosslanguage.co.jp/support/howto/je/knack.html